Loading...

ยุทธศาสตร์

การพัฒนาผู้เรียนด้าน “ปัญญา” ควบคู่กับ “ทักษะ” ส่งเสริมให้ผู้เรียนมี “ความเชี่ยวชาญ”
การพัฒนาผู้เรียนด้าน “ปัญญา” ควบคู่กับ “จิตใจ” ส่งเสริมให้ผู้เรียนมี “ความตระหนักรู้”
การพัฒนาผู้เรียนด้าน “ทักษะ” ควบคู่กับ “จิตใจ” ส่งเสริมให้ผู้เรียนมี “สุนทรียะ/ศิลปะ”

บทบาทที่ปรึกษาของครูผู้สอน

          ด้านครูผู้สอนของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตร เน้นการเรียนรู้ที่บูรณาการเข้าไปในชีวิตประจำวัน ช่วยฝึกฝนอุปนิสัยที่จำเป็นต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ และดูแลนักเรียนในแบบ “ครูที่ปรึกษา” มากกว่า “ครูผู้ออกคำสั่ง” ตลอดจนสนับสนุนสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน โดยตระหนักในบทบาทต่างๆ ดังนี้

  • ครูผู้สอนเป็นผู้ให้ข้อมูลและทางเลือกที่หลากหลาย ชี้แนะให้เห็นความเป็นไปได้ต่างๆ และเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ครูผู้สอนต้องไม่ตำหนิกล่าวโทษ แต่เลือกใช้ความผิดพลาดนั้นมาเป็นประสบการณ์เรียนรู้
  • ครูผู้สอนเป็นผู้กระตุ้นให้กล้าคิด กล้าตั้งคำถาม และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ อย่างสุภาพ พร้อมกับเรียนรู้ที่จะรับฟังและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น
  • ครูผู้สอนเป็นผู้ฝึกฝนวินัยในชีวิตประจำวัน ทั้งการกิน การใช้เวลา การใช้เงิน การประหยัด การใช้ชีวิตอย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่น และการใช้สติปัญญาตัดสินใจสิ่งต่างๆ

การศึกษาที่มีส่วนร่วมจากครอบครัว

          ด้วยอาชีพการงานที่กินเวลาชีวิตเป็นอย่างมาก พ่อแม่และผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยจึงมอบหน้าที่หลักในการดูแลลูกหลานให้กับทางโรงเรียน ผลที่ตามมาคือ นอกเหนือจากการใช้เวลาในโรงเรียน เด็กหลายคนขาดที่ปรึกษาและต้นแบบที่ดีในชีวิต แม้ในระดับมัธยมศึกษา การเปลี่ยนแปลงตามช่วงวัยจะส่งผลให้เด็กเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แต่เด็กก็ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่หรือผู้ปกครองในด้านความเป็นอยู่ พ่อแม่หรือผู้ปกครองจึงมีบทบาทการเป็นที่ปรึกษาและเป็นต้นแบบในเรื่องต่างๆ เช่น การพัฒนาบุคลิกภาพ การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไปจนถึงการประกอบอาชีพ

          นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้และปกครองยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “ระบบนิเวศการเรียนรู้” ที่มีส่วนอย่างมากต่อการเรียนรู้ในแนวทางของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในโรงเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงช่วงเวลาที่อยู่กับครอบครัวด้วย

          นักเรียนที่จะมีความสุขและบรรลุเป้าหมายในการเรียนตามแนวทางของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่มีเป้าหมายเดียวกัน เริ่มตั้งแต่การเลือกโรงเรียน ดูแลค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน สนับสนุนด้านข้อมูล วัสดุอุปกรณ์ แหล่งเรียนรู้ภายนอก และมีส่วนร่วมกับครูผู้สอนในการส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้จากปัญหาและต่อยอดความสนใจได้ตลอดเวลา โดยที่การประเมินผลการเรียนรู้และฝึกทักษะจากกิจกรรมต่างๆ ในครอบครัว พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะเป็นผู้ร่วมจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) โรงเรียนจะใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ซึ่งมีผลต่อผู้เรียนทั้งการเลื่อนระดับชั้นและการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

          โรงเรียนจึงคาดหวังให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียน เป็นครูจากครอบครัว ที่สามารถพัฒนาทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับครูผู้สอนได้ ด้วยหลักการสำคัญดังกล่าว นอกจากการคัดเลือก “นักเรียน” โรงเรียนจึงให้ความสำคัญกับการคัดเลือก “พ่อแม่และผู้ปกครอง” ด้วยเช่นกัน